13/10/52

4.4 การขับเคลื่อน “ห้องเรียนคุณภาพ” ในสถานศึกษา

...............แนวคิด "ห้องเรียนคุณภาพ" จะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับ
...............กระบวนการบริหารจัดการหรือการขับเคลื่อนที่เป็นระบบ อิงหลักวิชาการ

........เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2552 ผมได้มีโอกาสไปบรรยายเรื่อง การนำแนวคิด“ห้องเรียนคุณภาพ” สู่การปฏิบัติ ให้แก่ รองผู้อำนวยการสถานศึกษา ในสังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา กทม.เขต 2 ณ โรงแรม ฮอลิเดย์ อินน์–รีเจนต์ ชะอำ จังหวัดเพชรบุรี หลังจากนั้นก็ได้บรรยายในเรื่องนี้อีกหลายครั้งให้แก่ครูและผู้บริหารสถานศึกษาต่าง ๆ โดยสรุป ผมเห็นว่าในการขับเคลื่อนแนวคิดห้องเรียนคุณภาพในระดับสถานศึกษา ควรดำเนินการดังต่อไปนี้
........1. Taking Stock : วิเคราะห์สภาพปัจจุบัน หรือ จัดทำฐานข้อมูล(Baseline) ในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน-ณ วันนี้ การจัดการเรียนการสอนระดับรายวิชา/ระดับบุคคล มีคุณภาพมากน้อยเพียงใด-มีรายวิชาร้อยละเท่าไร ที่มีคุณภาพระดับดีมาก ตามเกณฑ์ห้องเรียนคุณภาพ-ร้อยละเท่าไรของอาจารย์ประจำชั้น ที่มีคุณภาพการบริหารจัดการห้องเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ หรือมีคุณภาพระดับดีมาก-คุณภาพการศึกษาของโรงเรียนเรา เมื่อพิจารณาจากผลการสอบระดับชาติ เป็นอย่างไร มีคุณภาพติดใน 100 อันดับแรกของประเทศหรือไม่
........2. Setting Goals : สร้างความตระหนักและกำหนดเป้าหมายคุณภาพสถานศึกษาจะต้องสร้างความตระหนักในปัญหาคุณภาพการศึกษาและความจำเป็นในการ “นำความเปลี่ยนแปลงสู่ห้องเรียน : หน่วยปฏิบัติการที่เล็กที่สุด” โดยจะต้องร่วมกันกำหนดเป้าประสงค์ว่า “ทุกรายวิชา จะต้องผ่านการรับรองมาตรฐานการจัดการเรียนการสอนระดับ “ดี-ดีมาก” (ตามเกณฑ์ห้องเรียนคุณภาพ ภายในปี 2553)
........3. Developing Strategies : กำหนดยุทธศาสตร์ จัดทำแผนงาน/โครงการหรือกิจกรรมการพัฒนาเพื่อก้าวสู่ “ห้องเรียนคุณภาพ”-การออกแบบการเรียนรู้รายวิชา-โครงการ/กิจกรรมระดับกลุ่มสาระ-โครงการ/กิจกรรมระดับโรงเรียน
........4. จัดทำปฏิทินการบริหารจัดการในรอบปี เพื่อก้าวสู่ “ห้องเรียนคุณภาพ”ตัวอย่าง ปฏิทินงานพัฒนาห้องเรียนคุณภาพ ปี 2552
1) กำหนดตัวชี้ ห้องเรียนคุณภาพ พร้อมประชาพิจารณ์ ......เม.ย. 2552
2) วิเคราะห์สภาพปัจจุบัน ปัญหา กำหนด Baseline............พ.ค. 2552
3) วางแผน/จัดทำแผนงาน โครงการ/กิจกรรม ..................พ.ค. 2552
4) ดำเนินการตามแผน(1) : กำกับ ติดตาม นิเทศและ ประเมินความก้าวหน้า 1..........มิ.ย.-ก.ย. 2552
5) ดำเนินการตามแผน(2) : กำกับ ติดตาม นิเทศ ...............พ.ย.52-ก.พ.2553
6) ประเมิน สรุปผลการดำเนินงานในรอบปี ..........................25 มีนาคม 2553
........5. กำกับ ติดตาม นิเทศงาน ตามสายงานบังคับบัญชา
-งานเป็นไปตามแผนหรือไม่(ปัจจัยใดบ้าง ช่วยให้งานเป็นไปตามแผนหรือไม่เป็นไปตามแผน-เก็บสะสมเป็นองค์ความรู้/เป็นบทเรียน)
-มีปัญหา อุปสรรค ที่สำคัญ ๆ อย่างไรบ้าง(ทางออกในการแก้ปัญหาที่ได้ผล คืออย่างไร ปัจจัยใดบ้างช่วยให้สามารถแก้ปัญหาได้ – เก็บสะสมเป็นองค์ความรู้/เป็นบทเรียน)
-ผลงานที่เกิดขึ้นตามช่วงเวลา มีคุณภาพ เป็นที่น่าพอใจหรือไม่ เพียงใด
........6.ให้หน่วยงานย่อย(กลุ่มสาระ) สรุปความก้าวหน้าในการดำเนินงานของตนเอง อย่างต่อเนื่อง เป็นระยะ ๆ
........7. ใช้หลักสัญญาประชาคม ช่วยในการกำกับ ติดตามงาน อาทิ
-ประสานแผนก่อนการดำเนินงาน
-จัดทำปฏิทินในการติดตามงาน
-จัดให้มีการเผชิญหน้าระหว่างหน่วยงานที่เทียบเท่ากัน(กลุ่มสาระ) เพื่อรายงานความก้าวหน้าของงาน
-ฯลฯ
........8. จัดสัมมนาประเมินความก้าวหน้าของงานเป็นระยะ ๆ โดยใช้หลักการเสริมแรง(Advocacy Model) หรือ" เน้นการชี้จุดเด่นของแต่ละหน่วยงาน/ฝ่าย/กลุ่มสาระ/บุคคล มากกว่า การชี้จุดอ่อน หรือ ติ"
........9. พัฒนาระบบการสื่อสารให้รวดเร็ว คล่องตัว เช่น
-เครือข่ายข้อมูล
-ระบบฐานข้อมูล
-การประชุม/ห้องประชุม V.I.P ทาง Internet
-ฯลฯ
........10. Documenting Progress : สรุป/ประเมินผลการดำเนินงานในรอบปี-รายงานการดำเนินงาน ห้องเรียนคุณภาพ รายบุคคล-รายงานการดำเนินงาน ห้องเรียนคุณภาพ รายกลุ่มสาระ-สรุปผลงาน Best Practices-ประเมินศักยภาพ/พัฒนาการ/ความก้าวหน้าของครู
........11. ส่งเสริมความก้าวหน้าในวิชาชีพสำหรับครู ควบคู่กับการพัฒนาสู่“ห้องเรียนคุณภาพ” (กำหนดเป้าหมายร้อยละของครู คศ.3-5)

11/10/52

1.5 "นำการเปลี่ยนแปลงสู่ห้องเรียน".คืออย่างไร

........ในการฝึกอบรมหลักสูตร "ผู้นำการเปลี่ยนแปลง" มีการกล่าวกันค่อนข้างแพร่หลายว่า "เราจะต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง" พอมาถึงการจัดการเรียนการสอน ก็กล่าวว่า "เราจะต้องนำการเปลี่ยนแปลงสู่ห้องเรียน" ในการนี้ คำถามที่มักถูกถาม(หรืออาจถามในใจ) คือ "อย่างไร จึงจะเรียกว่า เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง"....คำตอบในเรื่องนี้ มีผู้พยายามตอบในหลายลักษณะ เช่น
-เราจะต้องมุ่งมั่น ในการทำงาน
-เราจะต้องตั้งเป้าหมายในการทำงาน และคิดกลวิธีที่มีประสิทธิภาพ
-เราจะต้องบริหารจัดการงานในหน้าที่อย่างเป็นระบบ
-เราจะต้องนำนวัตกรรม วิธีการใหม่ ๆ มาใช้ในการพัฒนางาน
-เราจะต้องตรวจสอบความสำเร็จของงานเป็นระยะ ๆ
-เราจะต้องพัฒนางาน จนประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย
-ฯลฯ
........จากการพยายามอธิบาย "ภาวะการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง" ดังกล่าวข้างต้น จะพบว่า ส่วนหนึ่งเป็นคำอธิบายที่สะท้อนถึงพฤติกรรมการทำงานหรือความพยายามในการพัฒนางาน(Attempt) อีกส่วนหนึ่ง(ที่ระบายสีแดง) เป็นคำอธิบายที่กล่าวถึงหรือสะท้อนถึงความสำเร็จของงาน(Achieved)

........ในทัศนะของผู้เขียน เห็นว่า ใครก็ตามที่มีความพยายามสูงมากในการพัฒนางาน(พยายามพัฒนางานในทุกวิถีทาง)...น่าจะได้ชื่อว่า "ผู้พยายามเปลี่ยนแปลงคุณภาพงาน" ใครก็ตามที่พยายามพัฒนางาน จนประสบความสำเร็จ(Achieved) น่าจะเรียกว่า "ผู้นำการเปลี่ยนแปลง"
-ถ้าผลงานปีนี้(ตามตัวชี้วัดคุณภาพ) ดีกว่าปีที่แล้วอย่างมาก....ถือเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง..เกรด A
-ถ้าผลงานปีนี้(ตามตัวชี้วัดคุณภาพ) ดีกว่าปีก่อนค่อนข้างมาก..ถือเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง เกรด B
-ถ้าผลงานปีนี้(ตามตัวชี้วัดคุณภาพ) ดีกว่าปีก่อนเล็กน้อย...ถือเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง เกรด C(ผ่าน)

........ตามคำนิยาม และการตีค่าผู้นำการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวข้างต้น ครูทุกคน ต้องนำการเปลี่ยนแปลงสู่ห้องเรียน หรืออีกนัยหนึ่งก็ คือ จะต้องพัฒนาให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน/คุณลักษณะอันพึงประสงค์ในตัวผู้เรียน/สมรรถนะในตัวผู้เรียน ในปีหลัง สูงกว่าในปีก่อน ๆ อย่างต่อเนื่อง จึงจะถือว่า เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง...ซึ่ง หากเราทำได้เช่นนี้ สัก 10 ปี ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก้พัฒนาขึ้น 10 ขั้น...สักวันหนึ่ง คุณภาพการศึกษาของประเทศ จะก้าวขึ้สู่ความเป็นเลิศได้อย่างแน่นอน

.......ความสำคัญของการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง คือ "ครูทุกคน/นักพัฒนาทุกคน จะต้องมุ่งมั่น ตั้งใจและสัญญากับตนเอง(Self-MOU) ว่า จะพัฒนางาน ให้ปรากฏผลงานปีหลัง ๆ ดีกว่าปีก่อน ๆ อย่างสม่ำเสมอ" หากเราทำได้ "เราคือผู้นำการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง"

9/10/52

1.4 มาตรฐานห้องเรียนคุณภาพ(สุพักตร์ 2552)

........ในปี 2552 หลังจากได้ศึกษาแนวคิดของ สพฐ. และแนวคิดของ Hasting(2006) แล้ว ผมคิดว่า ในการกำหนดมาตรฐานห้องเรียนคุณภาพ น่าจะกำหนดมิติคุณภาพและรายการพฤติกรรมบ่งชี้ที่สำคัญ ๆ ดังต่อไปนี้
องค์ประกอบที่ 1 : การวางแผน/ออกแบบการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ
........1.1 สร้างหน่วยเรียนรู้ อิงมาตรฐาน(Effective Syllabus)
........1.2 จัดทำแผนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ(Effective Lesson Plan)
........1.3 เตรียมสื่อประกอบการสอน พร้อมใช้

องค์ประกอบที่ 2 : ปฏิบัติการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ
........2.1 ใช้เทคนิค/วิธีการสอนที่หลากหลาย/เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
........2.2 ใช้ ICT สนับสนุนการจัดการเรียนรู้
........2.3 เสริมสร้างวินัยเชิงบวก/เสริมสร้างคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ในกระบวนการสอน

........2.4 ดูแล ส่งเสริมด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิตนักเรียน
องค์ประกอบที่ 3 : วิจัย วัดผล ประเมินผลอย่างมีประสิทธิภาพ

........3.1 นำวิธีการใหม่ ๆ มาทดลองใช้ในกระบวนการจัดการเรียนรู้/วิจัยในชั้นเรียน
........3.2 พัฒนาวิธีการ/เครื่องมือวัดผล มีคุณภาพ เน้นประเมินตามสภาพจริง
........3.3 นำผลการวิจัย/การประเมินมาใช้เพื่อ
พัฒนาการเรียนรู้
องค์ประกอบที่ 4 : สามารถนำการเปลี่ยนแปลงสู่ผู้เรียนได้อย่างเป็นรูปธรรม
........4.1 ผลสัมฤทธิ์สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน(เกรดเฉลี่ยกลุ่มที่สอน, O-Net)
........4.2 คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนตามที่หลักสูตรกำหนด
........4.3 ทักษะ/สมรรถนะของนักเรียนตามที่หลักสูตรกำหนด

........ครูคนใด/รายวิชาใด สะท้อนคุณภาพ ระดับดีมาก(A) ทั้ง 4 องค์ประกอบ ก็ถือได้ว่าเป็นครูยอดเยี่ยม.....

1.3 ห้องเรียนคุณภาพ : แนวคิด สพฐ.

........ ในปี 2550 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ได้นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับห้องเรียนคุณภาพ(Complete Classroom) เป็นแนวคิดในการพัฒนาที่มุ่งเน้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพในระดับปฏิบัติ คือ “ระดับห้องเรียน” โดยมีจุดเน้นที่สำคัญ ดังต่อไปนี้

1) นำการเปลี่ยนแปลงสู่ห้องเรียน(Attempt & Achieve)
2) ออกแบบการจัดการเรียนรู้อิงมาตรฐาน
3) ใช้ ICT เพื่อการสอนและสนับสนุนการสอน
4) สร้างวินัยเชิงบวก (Positive Discipline) 5) วิจัยในชั้นเรียน (CAR
)

5) วิจัยในชั้นเรียน (CAR)
และเสนอแนะว่า หากพิจารณาการเปลี่ยนแปลงที่ครู ให้ดูที่ประสิทธิภาพงาน 4 ประการ คือ

-Effective Syllabus
-Effective Lesson Plan
-Effective Teaching
-Effective Assessment

1.2 ห้องเรียนคุณภาพ ในทัศนะของ Hasting(2006)

....... ในปี 2006 Steven Hastings ได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่ง ใช้ชื่อว่า "The Complete Classroom" ในหนังสือเล่มนี้ ได้เสนอแนะว่า "ห้องเรียนคุณภาพ/ห้องเรียนที่สมบูรณ์แบบ" น่าจะมีลักษณะที่สำคัญ 3 องค์ประกอบ คือ
........1) The Healthy Classroom....เป็นห้องเรียนที่ให้ความสำคัญในเรื่องสุขภาพกายและสุขภาพจิตของนักเรียน ครูจะเน้นในเรื่องการดูแลสุขภาพ ป้องกันการเจ็บป่วย ส่งเสริมให้เด็กดูแล/ทำความสะอาดร่างกาย ดูแลปัญหาเรื่องการบริโภคอาหารที่ไร้คุณภาพ(Junck Food) ปัญหาเรื่องการเบี่ยงเบนทางเพศ การทำร้ายร่างกาย การฆ่าตัวตาย ฯลฯ
........2) The Thinking Classroom....เป็นห้องเรียนที่เน้นการส่งเสริมด้านการคิดวิเคราะห์ หรือพัฒนาการทางสมอง ครูจะต้องเก่งเรื่อง การใช้คำถาม การส่งเสริมด้านพัฒนาการทางการคิด อารมณ์ การเรียนรู้เพื่อการปรับเปลี่ยนบุคลิกภาพ การส่งเสริมการอ่าน/สร้างยอดนักอ่าน การเสริมแรงผู้มีความคิดสร้างสรรค์ ฯลฯ
........3) The Well-Rounded Classroom....ห้องเรียนบรรยากาศดี เน้นในเรื่อง การเป็นห้องเรียนสีเขียว/สะอาด สิ่งแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้ดี/เด็กได้เรียนจากสิ่งแวดล้อม บริเวณโรงเรียนมีสัตวืเลี้ยง(เพื่อการเรียนรู้เกี่ยวกับสัตว์และพัฒนาด้านการสังเกต) การเน้นบทบาทอาสาสมัคร(Using Volunteers) บทบาทการมีส่วนร่วมของเด็ก(Pupil Power) ฯลฯ

1.1 ห้องเรียนคุณภาพ...คือ อย่างไร

........ก่อนที่จะหาข้อสรุปว่า "ห้องเรียนคุณภาพ คืออะไร" ขอเชิญทุกท่านลองพิจารณาคำถามต่อไปนี้นะครับ
คำถาม 1 : หากกล่าวถึง "ห้องเรียน" ท่านมักจะนึกถึงรายการใด ระหว่าง
........ก.ห้องเรียนรายวิชา/การจัดการเรียนการสอนระดับรายวิชา
........ข. ห้องประจำชั้น ซึ่งดูแลโดย อาจารย์ประจำชั้นหรืออาจารย์ที่ปรึกษา

........ในทางปฏิบัติ ท่านอาจนึกถึงทั้ง 2 ลักษณะ

คำถาม 2 : คำว่า "ห้องเรียนคุณภาพ" ท่านนึกถึงคุณภาพในลักษณะใด ระหว่าง
........มิติ 1 ห้องเรียนที่มีสื่อ เทคโนโลยีที่ทันสมัย หรูหรา
......มิติ 2 ห้องเรียนทีมีวิธีการจัดการเรียนการสอนที่ยอดเยี่ยม

......ผมเชื่อว่า ทุกท่านอาจจะเห็นว่า "หากเป็นไปได้ ควรมีคุณภาพ ทั้งใน 2 มิติ"

........แนวคิด เรื่อง "ห้องเรียนคุณภาพ" เป็นแนวคิดในการพัฒนาที่มุ่งเป้าไปที่หน่วยจัดการศึกษาที่เล็กที่สุด คือ "ห้องเรียน" โดยคาดหวังว่า ถ้าการจัดการเรียนรู้ระดับรายวิชามีความยอดเยี่ยมหรือมีคุณภาพ จะทำให้ "ภาพรวมของกลุ่มสาระ/หมวดวิชา" น่าจะมีคุณภาพ และในที่สุด "ภาพรวมของโรงเรียน" ก็น่าจะมีคุณภาพ หรือมีความเป็นเลิศตามมา
........"ห้องเรียนคุณภาพ" น่าจะเป็นทางเลือกที่สำคัญทางเลือกหนึ่งในการยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ เป็นทางเลือกที่จะนำไปสู่แนวปฏิบัติในการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ


........แนวคิดในการผลักดันให้เกิด "ห้องเรียนคุณภาพ" ในสถานศึกษา น่าจะมีความเป็นไปได้ในอนาคต ที่จะนำไปสู่ "การประกันคุณภาพระดับรายวิชา"

เชิญแลกเปลี่ยนเรียนรู้

........ขอเชิญสมาชิกและผู้สนใจทุกท่าน เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเชิงวิชาการ สำหรับผมเอง จะพยายามนำเสนอแนวคิดเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทุกท่านอย่างสม่ำเสมอ

..................ดร.สุพักตร์ พิบูลย์